กังหันปั่นน้ำภูเขากลายเป็นไฟฟ้า

ได้รับชมรายการนี้จากสถานี ThaiPBS เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า การทำงานของชุมชนเป็นระบบมาก เพื่อแก้ไขปัญหาและต่อยอดการพัฒนาร่วมกัน สมัยก่อนวัดเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนท่ามกลางสภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย ชุมชนก็จะอยู่อย่างสบายใจใช้เวลาไปแต่ละวันอย่างมีความสุข แต่ถ้ามายุคปัจจุบันนี้ การทำงานร่วมกันของชาวบ้านเป็นการดิ้นรนแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้มากที่สุด

กังหันน้ำปั่นไฟฟ้า ที่คีรีวง นครศรีธรรมราช

ลองดู Clip video นี้กันดูนะคะ เข้าใจชีวิตท้องถิ่นดีจริงจริง

พลังงานเหลือจากทรัพยากรน้ำภูเขา

หลักการง่ายเพียงแต่เรามองเห็นพลังงานนั้น หาวิธีเปลี่ยนพลังงงานนั้นมาใช้ ในนี้คือ นำพลังงานจากน้ำที่ไหลลงมาจากที่สูง ในที่นี่คือน้ำประปาภูเขา ที่ไหลลงสู่ที่ต่ำ

น้ำประปาภูเขานี้มีอยู่แทบทุกที่ที่มีภูเขาค่ะ แม้แต่บนเกาะ เช่น เกาะสมุย ยังมีเลย ชุมชนก็ใช้กันทำการเกษตรกันอยู่เป็นประจำ ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ธรรมชาติยังใสสะอาดบริสุทธิ์ สามารถใช้ดื่มหรือประกอบอาหารกันได้เลย แต่ปัจจุบัน ส่วนใหญ่น้ำเหล่านี้จะชะล้างสารเคมีที่เกษตรกรใช้ปลูกต้นไม้กันอยู่บนภูเขา จึงทำให้ใช้ไม่ได้เหมือนในอดีต แต่ก็ยังนำมารดน้ำต้นไม้กันได้เป็นปกติค่ะ

== พลังงานศักย์เปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ == การเปลี่ยนพลังงานนี้เกิดขึ้นทุกขณะ แล้วหายไป เราไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์เลย เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ประจำหมู่บ้าน เช่นคุณลุงส่อง เห็นว่า หลังจากน้ำนี้ผ่านการใช้อุปโภค บริโภค แล้วยังเหลือพลังงานอยู่เลย ก่อนทิ้งจึงควรนำมาปั่นกังหันน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า นี่คือจุดเริ่มต้น

ลุงส่องเริ่มประดิษฐ์ต้นแบบกังหันน้ำปั่นไฟฟ้า

กังหันน้ำปั่นไฟฟ้าอย่างง่าย ลุงก็นึกถึงล้อรถเข็นเก่าๆ ก่อนเลย หาแกนกลางเสียบก็กลายเป็นเพลาล้อหมุนได้แล้ว และก็หากระป๋องมา 12 ใบติดรอบล้อเพื่อรองรับน้ำ เมื่อรับมากขึ้น กระป๋องก็เริ่มเคลื่อนตัวต่ำลง จนรับน้ำเต็มกระป๋อง ก็เคลื่อนลงมาอีก และผลักล้อให้หมุนไป จนกระป๋องอันถัดไปมารับน้ำแทน ล้อก็จะหมุนไปเรื่อยๆ ตามน้ำภูเขาที่ไหลลงมาเรื่อยๆ เพลาล้อนั้นที่ต่ออยู่กับไดนาโมก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้นั่นเอง

นวัตกรรมต่อยอดกังหันน้ำปั่นไฟฟ้า

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนงบประมาณ และนักวิชาการมาช่วยลุงออกแบบกังหันน้ำที่่มีลักษณะใบรับน้ำต่อยอดจากลุง โดยคิดให้เกิดการสูญเสียพลังงานน้ำให้น้อยที่สุด ทั้งออกแบบหัวฉีด (Nozzle) รีดน้ำออกจากปลายท่อพีวีซีเป็นการเพิ่มความเร็วน้ำที่ออกจากท่อ หรือทำให้เกิดพลังงานจลน์มากที่สุด และหลังจากนั้นน้ำก็จะไปตกกระทบใบรับน้ำอย่างแรง เพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น มีลักษณะใบรับน้ำที่ป้องกันน้ำฉีดออกข้างๆ ซึ่งจะเสียพลังงานไปอีกด้วย จะเห็นว่านวัตกรรมต่อยอดนี้สามารถใช้น้ำเพียง 30-40 ลิตรต่อนาที หมุนด้วยความเร็วรอบ 1,500 รอบต่อนาที (rpm) ได้ไฟฟ้า 300 โวลต์ (Volt) แล้วสามารถเก็บสะสมไว้ในคาปาซิเตอร์ (Capacitor) ส่วนจะได้กระแสไฟฟ้ากันมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับพลังงานน้ำของแต่ละสวนค่ะ

อย่างไรก็ตาม การเห็นทรัพยากรที่มีคุณค่านี้เหลืออยู่นั้น เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ประจำหมู่บ้านต้องช่วยกันดู และคิดต่อว่าจะนำมาแปลงเป็นพลังงานได้อย่างไร หาผู้ช่วยต่อยอดให้ ก็จะสำเร็จ การสร้างไฟฟ้าแบบ District Generation ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ เป็นการใช้ทรัพยากรช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มที่ไม่ต้องรอการลงทุนต่อสายส่งจากระบบ Grid ใหญ่เข้ามาก็จะง่ายและเร็วขึ้น อีกทั้งสนองตอบต่อนโยบายพลังงานทดแทนได้อย่างดีทีเดียว