ไม่น่าเชื่อ! จีน กลายเป็นผู้นำพลังงานสะอาดโลก

จีน ผู้นำพลังงานสะอาดโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ World Wide Fund For Nature (WWF) ประกาศว่า ปัจจุบันประเทศจีนมีมูลค่าการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากกว่า 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปรากฏว่า จีนติดอันดับ 1 ในโลกไปเรียบร้อยแล้ว

จีนยังเป็นผู้ผลิตแผงโซล่าห์เซลล์อันดับหนึ่งของโลกด้วย
จีนยังเป็นผู้ผลิตแผงโซล่าห์เซลล์อันดับหนึ่งของโลกด้วย

แต่หากเรียงลำดับตามอัตราส่วนของมูลค่าการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่อ “จีดีพี” ประเทศเดนมาร์ก จะติดอันดับ 1 ในโลก โดยมีมูลค่าการผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของจีดีพี และจีนติดอันดับที่ 2 โดยมูลค่าการผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของจีดีพี

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มูลค่าการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 77 ต่อปี เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันมูลค่าการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของจีดีพี และติดอันดับที่ 17 ในโลก

จึงไม่แปลกใจเลยว่า เมื่อจีนให้การสนับสนุน และพัฒนาพลังงานสะอาด ทำให้ในปี 2553 จีนมีกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถึง 10.8 ล้านกิโลวัตต์ กำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าพลังงานลมอยู่ที่ 31 ล้านกิโลวัตต์ กำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าพลังงานชีวภาพ 5.5 ล้านกิโลวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 7 แสนล้านกิโลวัตต์

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2553 จีนได้ลงทุนในตลาดพลังงานสะอาดถึง 54,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดอันดับ 1 ในโลก และมีการเพิ่มสูงขี้นร้อยละ 39 จากปี 2552 โดยเฉพาะในด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งการลงทุนของจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของการลงทุนทั่วโลก

เป็นยังไงครับอิทธิพลการพัฒนาของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ที่วาดเป้าหมายไว้เรียบร้อยว่า จีนจะต้องเป็นหนึ่งในทุกๆ ด้าน และเดินหน้าไปสู่ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอันดับ 1 แทนสหรัฐฯ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้

ว่าไปแล้ว เรื่องนี้ทำให้สหรัฐฯ ร้อนๆ หนาวๆ กลัวจะเสียแชมป์ ยิ่งตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจของตัวเองยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร ก็ยิ่งเป็นโอกาสให้จีนถีบตัว และไล่ตามติดมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องบอกว่า ในบางอุตสาหกรรมจีนแซงหน้าทุกประเทศ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

มาย้อนดูปูมหลังกันเสียหน่อยว่า จีนทำสำเร็จได้อย่างไร…?

นับตั้งแต่ปลายปี 2552 รัฐบาลจีนได้เริ่มสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมัน แล้วหันมาใช้พลังงานใหม่มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมพลังงานเพื่อนำมาพัฒนาพลังงานชนิดใหม่ ในเขตที่อยู่อาศัยเพิ่มจากร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.4 เขตโรงงานขึ้นค่าธรรมเนียมประมาณร้อยละ 0.8

โดยเงินส่วนนี้จะนำส่งให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เป็นเงินสนับสนุนในการเปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นพลังงานชนิดใหม่ อาทิ พลังงานลม เพราะกังหันลมในจีนส่วนใหญ่เพิ่งได้รับการสร้างขึ้นเมื่อปี 2552 และอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล

นอกจากนี้ เกือบ 1 ใน 3 ของกังหันลมยังไม่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ส่วนที่เชื่อมต่อ ก็จะมีการสูญเสียกำลังไฟไปในระหว่างทาง และเมื่อปลายปี 2552 รัฐบาลจีนเพิ่งเริ่มจะมีมาตรการใหม่ที่กำหนดว่า

“ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่ไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายพลังงานชนิดใหม่ จะต้องจ่ายต้นทุนในการผลิตเป็น 2 เท่า ของราคากระแสไฟฟ้าที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสายส่งได้”

เรียกว่า จีนทั้งผลัก ทั้งดัน ทั้งอัดฉีด เพื่อผันตัวเองไปสู่ “ผู้ส่งออก” รายใหญ่ที่สุดของโลกด้านธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนชนิดใหม่ และพลังงานสะอาด ได้แก่ กังหันลมปั่นไฟ โดยในปี 2552 บริษัท Shenyang Power Group ผลิตใบพัดกังหันลมจำนวนถึง 240 เครื่อง ให้แก่โครงการพลังงานลมขนาด 36,000 เอเคอร์ มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในรัฐเท็กซัสตะวันตก

ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จีนก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังพยายามจะพัฒนาเป็นผู้ผลิตโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อส่งออกไปประเทศอื่น รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีประสิทธิภาพ และลดมลภาวะมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เพราะค่าแรงที่มีราคาถูก ทำให้จีนได้เปรียบคู่แข่งมากๆ แถมรัฐบาลจีนหนุนสุดๆ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ งบประมาณสนับสนุน มาตรการด้านภาษีจูงใจ ฯลฯ ทำให้โครงการธุรกิจพลังงานของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ภายหลังการประชุมสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อเดือนธันวาคม 2552 (หรือเป็นที่รู้จักกันโดยอักษรย่อว่า UNFCCC – COP 15) เพียงไม่นาน จีนและเดนมาร์กได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการพัฒนาพลังงานชนิดใหม่ โดยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2553 ได้เริ่มโครงการด้วยการจัดตั้งศูนย์วิจัยพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กสนับสนุนเงินทุนในโครงการนี้ 100 ล้านโครเนอร์เดนมาร์ก หรือเท่ากับ 18.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่น่าสนใจคือ จีนมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานใหม่มากๆ โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีน หรือ NDRC ระบุในแผนพัฒนาแหล่งพลังงานและพัฒนาพลังงานทางเลือกในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 11 (2549-2553) เป็นลำดับต้นๆ อย่างเช่น กฎหมายพลังงานนำกลับมาใช้ใหม่ (Renewable Energy Law) ของจีนก็มีผลบังคับใช้แล้ว ฯลฯ

ขณะที่ จีนได้ตั้งคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ มีนายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรี และนายหลี่ เค่อเฉียง รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นประธานและรองประธาน NEC ตามลำดับ ซึ่ง NEC จะเป็นองค์กรลักษณะ “super ministry” ที่ครอบคลุมหน้าที่ในหลายมิติ
หลักๆ ก็คือ การศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานของชาติ การบริหารจัดการปัญหาสำคัญๆ ด้านความมั่นคงและพัฒนาการทางพลังงาน การประสานงานและวางแผนเชิงบูรณาการ ทั้งในการพัฒนาด้านพลังงานภายในประเทศ และความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ ฯลฯ

จากแนวโน้มสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน และเหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่า จีนจะมีนโยบายพัฒนาพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต และการบริโภคของประเทศ เพื่อให้จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
เพราะจีนก็หวั่นเกรงว่า จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศเกี่ยวกับเรื่อง “ทำลายสภาวะสิ่งแวดล้อม” จากภาพพจน์ของจีนที่ถูกระบุว่า เป็นตัวการในการสร้างปัญหาโลกร้อนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้จีนต้องบริโภคพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาของวัตถุดิบด้านพลังงานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

แต่ยังไงก็ตามวันนี้ มังกรจีนผงาดบนเวทีโลก และแซงหน้าทุกประเทศไปแล้วในฐานะผู้นำอันดับ 1 ของโลกพลังงานสะอาด..!

ที่มา สยามรัฐ