คนในเมืองหลวง คือผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 1 แต่ตนเองไม่รู้

ช่วงนี้ในเมืองหลวงมีการรณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง นอกจากการต่อต้านเขื่อนแล้วก็มีกิจกรรมเช่นการรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ การต่อต้านตัดต้นไม้ถนนขึ้นเขาใหญ่ การรณรงค์ขี่จักรยาน ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่มนุษย์ตื่นตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่คนในเมืองหลวงทั้งที่อยู่มาก่อนและเพิ่งมาอยู่ไม่ทราบคือ ตนเองมีส่วนในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรบ้าง

URBANIZATION consumes FORESTS:  In the past, forest loss was caused by logging and agriculture. Today, urbanization and industrialization are key factors. As cities and industrial areas expand, they consume land that is occupied by trees and natural vegetation.
URBANIZATION consumes FORESTS: In the past, forest loss was caused by logging and agriculture. Today, urbanization and industrialization are key factors. As cities and industrial areas expand, they consume land that is occupied by trees and natural vegetation.

ภาพการขยายตัวของกรุงเทพฯ เดิมเราคิดว่าตัดไม้ทำลายป่าและเกษตรกรรมคือสาเหตของการสูญเสียป่าไม้ แต่ปัจจุบันการขยายตัวของเมืองและการปรับตัวของอุตสาหกรรมกลับเป็นปัจจัยหลัก ภาพจาก http://www.architectkidd.com/deforestation-increases-floods/

คนมา ป่าหมด
คนมา ป่าหมด

“คนมา ป่าหมด” ป่าไม้ในประเทศไทย ลดลงเนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้น และประชากรในกรุงเทพยังมีสัดส่วนที่เพิ่มเมื่อเทียบกับประชากรนอกกรุงเทพฯ อ่าน กรุงเทพมหานคร: เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทย

การทำลายสภาพแวดล้อมในประเทศมีส่วนจากเมืองหลวงต้องการพลังงานเป็นอันดับ 1

พลังงานที่ส่งเข้าเมืองหลวง คือความสูญเสียทั้งพื้นที่และทรัพยากรในต่างจังหวัด

energythai เคยเขียนบทความไว้จากผลสำรวจปี 2554 แล้วว่า ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ 3 ห้างใช้ไฟฟ้าเทียบเท่ากับเขื่อน 3 เขื่อน จากข้อมูลจะเห็นว่า ห้างพารากอน 1 ห้าง ใช้ไฟฟ้าเท่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 จังหวัด

ห้างพารากอน ใช้ไฟเท่าแม่ฮ่องสอนสองจังหวัด
ห้างพารากอน ใช้ไฟเท่าแม่ฮ่องสอนสองจังหวัด

– ห้างพารากอนมีขนาด 0.5 ตารางกิโลเมตร มีคนเฉลี่ย 2-30000 คนในช่วงกลางวัน ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีขนาด 12,681 ตร.กม. (ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของไทย) และมีประชากร 244,356 คน

– BTS และ MRT ก็ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ก็ใช้น้ำมันเป็นจำนวนมาก

การใช้พลังงานในภาคครัวเรือนที่สูงมากของคนเมืองเป็นตัวที่ค่อนข้างชี้ถึงวิถีคนเมืองได้ชัด ผลสำรวจปี 2555 กรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดข้างเคียง(นนทบุรี,ปทุมธานี,สมุทรปราการ) ใช้พลังงานมากกว่าภาคอิสานทั้งภาค ถึง 2.1 เท่า โดยใช้ไฟฟ้ามากกว่า 3.4เท่า และใช้แก๊สโซฮอล์มากกว่าถึง 7.7 เท่า ในขณะที่ภาคอิสานใช้น้ำมันดีเซลสำหรับภาคการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ก็ยังใช้น้ำมันดีเซลน้อยกว่า กทม+3จังหวัดอยู่ดี (442 :563) ส่วนหนึงเพราะคนเมืองหลวงใช้ไฟฟ้ามาก มีรถยนต์มาก แม้ว่าจะมีขนส่งสาธารณะมากเป็นอันดับหนึ่งด้วยเช่นกัน (ซึ่งขนส่งสาธารณะก็กินพลังงานอย่างมาก)

ความต้องการพลังงานทำให้ที่ผ่านมาต้องสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 9 เขื่อน เป็นการเบียดบังทรัพยากรและพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆเป็นอย่างมากเพราะเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นเขตต้นน้ำ เขื่อนแม้จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยแต่มีประโยชน์ตรงที่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ทันที จึงใช้ตอบสนองช่วง Peak ของความต้องการไฟฟ้า นั่นคือเขื่อนมีบทบาทสำคัญทำให้ค่าไฟฟ้าไม่แพง

แม้อนาคตจะมีโครงการโซล่าห์ฟาร์มเกิดขึ้น ก็ยังต้องเบียดบังพื้นที่ต่างจังหวัดอยู่ดี และการทำพลังงานทดแทน ก็ต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชที่ให้พลังงาน ต้องใช้สารเคมีกับหน้าดินในพื้นที่รอบนอก หรือการทำพลังงานทดแทนจากของเสียก็ต้องทำให้พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยก๊าซมีเทน กลิ่นเหม็นและพื้นที่โดยรอบใช้ประโยชน์ไม่ได้

การบริโภคของเมืองหลวง ส่งมลพิษทิ้งออกไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ

ชาวบางปะกงไม่เอาถ่านหิน
ชาวบางปะกงไม่เอาถ่านหิน

ที่มา http://www.oknation.net/blog/cool/2007/10/18/entry-1

โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล(แก๊ส,น้ำมัน,ถ่านหิน) ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลักในการป้อนเข้าสู่เมืองหลวงนั้นผลิตมลพิษออกสู่ชุมชนห่างไกลเมืองหลวงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซต์ คาร์บอนมอนอกไซต์ และซัลเฟอร์ไดออกไซต์ที่ทำให้เกิดฝนกรด นอกจากนี้โรงไฟฟ้าทุกโรงต้องตั้งใกล้แหล่งน้ำ เพื่อนำน้ำมาหล่อเย็นใน Cooling tower ขนาดยักษ์ จึงมีปัญหาที่ทำให้แหล่งน้ำและแม่น้ำใกล้เคียง มีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นน้ำมันที่ปลดปล่อยมลพิษสู่ชุมชนด้านนอกเพื่อป้อนคนเมืองด้วยเช่นกัน

การผลิตขยะจากการบริโภคของคนเมืองหลวง ส่งออกให้พื้นที่รอบนอกเต็มไปด้วยมลพิษ จาก ความล้มเหลวของการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ และ กทม.เมืองสีเขียว แต่ขยะพุ่ง 10,000 ตันต่อวัน วอน ปชช.คัดแยกก่อนทิ้ง และปัจจุบันกทม.พื้นที่กำจัดขยะไม่เพียงพอ ต้องขนไปฝังกลบที่ต่างจังหวัด เช่น นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี

ปี 54 ประเทศไทยผลิตขยะวันละ 43,800 ตัน โดย กทม จังหวัดเดียวผลิตประมาณ 1 ใน 4.5 ของประเทศ
ปี 54 ประเทศไทยผลิตขยะวันละ 43,800 ตัน โดย กทม จังหวัดเดียวผลิตประมาณ 1 ใน 4.5 ของประเทศ

ปี 54 ประเทศไทยผลิตขยะวันละ 43,800 ตัน โดย กทม จังหวัดเดียวผลิตประมาณ 1 ใน 4.5 ของประเทศ ที่มา เดลินิวส์

นอกจากนี้การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อตอบสนองคนเมืองหลวง ทำให้จังหวัดที่มีโรงงานจำนวนมากเต็มไปด้วยมลพิษ ลองดูสถานการณ์ขยะ ของไทย จังหวัดชลบุรีในขณะนี้มีปัญหากากอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตเพื่อป้อนเมืองหลวง อีกส่วนจากการส่งออก ขยะอันตรายกว่าร้อยละ 70 มาจากอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล

บริโภคนิยมของคนในเมืองหลวง ทำให้สูญเสียทรัพยากรเกินจำเป็น

การใช้ครั้งเดียวทิ้ง

คนในเมืองหลวงมีการดำเนินชีวิตแบบเร่งรีบ และมีการใช้ Solution ต่างๆเพื่อความสะดวกสบาย ทำให้กิจวัตรประจำวันต่างๆมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างไม่รู้ตัวเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้กล่องโฟม การกินอาหารจากร้านสะดวกซื้อที่ใช้ช้อนและภาชนะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง การใช้ถุงพลาสติกพร่ำเพรื่อครั้งเดียวทิ้ง ตลอดจน การใช้สารเคมีในการกำจัดปลวก การใช้สารเคมีแก้ท่อตัน ฯลฯ ของเหล่านี้อยู่ไกลตัวทำให้ไม่เห็นว่าเราทำลายทรัพยากรไปเท่าไหร่ โรงงานที่ผลิตซึ่งปล่อยมลพิษก็อยู่ที่ต่างจังหวัด และขยะอันตรายก็นำออกไปทิ้งต่างจังหวัด พลังงานในการผลิตก็ต้องใช้เป็นจำนวนมาก และวัฒนธรรมในการแยกขยะของเราก็ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล

วัฒนธรรมการบริโภคชั้นสูงทำให้ส่งผลต่อทรัพยากรเป็นจำนวนมาก
วัฒนธรรมการบริโภคชั้นสูงทำให้ส่งผลต่อทรัพยากรเป็นจำนวนมาก

การกินบุฟเฟต์ และวัฒนธรรมการกินชั้นสูง ทำให้ทรัพยากรสูญเปล่า

การกินบุฟเฟต์ ทำให้ร้านเตรียมเนื้อสัตว์และอาหารเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็นเพื่อรองรับให้เพียงพอกับแขก มีสิ่งมีชีวิตต้องตายโดยเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก มีของเหลือจำนวนมาก คนรับประทานก็รับประทานเกินความต้องการของร่างกายเป็นจำนวนมาก ขยะอินทรีย์เพิ่มขึ้นมาก พื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่อยู่นอกเมืองหลวงก็ต้องรับมือเช่นกัน

การกินของสดเช่นซูชิ หมายถึงของที่ไม่สดแล้วก็ต้องทิ้งเพื่อรักษาคุณภาพ งานเลี้ยงโต๊ะจีนมีของเหลือเป็นจำนวนมาก วัตถุดิบบางอย่างเช่นตับห่าน ทำให้ต้องฆ่าห่านโดยที่ไม่ได้นำเนื้อส่วนอื่นไปใช้เท่าที่ควร ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่ามนุษย์มีของเหลือทิ้งจากการบริโภคแบบชั้นสูงเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาล

การบริโภคอื่นๆ

เช่นการท่องเที่ยว คนเมืองหลวงนิยมเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นปล่อยมลพิษและทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก คนเมืองหลวงต้องเปิดแอร์เป็นจำนวนมากเพราะในเมืองร้อน ส่งผลต่อการใช้พลังงานและมลพิษที่บริษัทผู้ผลิต การใช้ gadgets ต่างๆ การใช้เครื่องสำอางค์ ก็มีผลต่อการผลิตและนำเข้าสารเคมี การสะสมของป่าเพื่อยกระดับสถานะและการบริโภคของป่า ก็เช่นกัน ตึกสูงในเมืองหลวงเป็นจำนวนมากใช้ปูนซิเมนท์ซึ่งได้มาจากการระเบิดภูเขาสัมปทานในต่างจังหวัดเช่นกัน

ทั้งนี้การบริโภคของคนในเมืองหลวงถ้าไม่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ก็ต้องยอมรับว่าเขาจะไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเลยเพราะไม่กระทบกับเขาโดยตรง ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งทำเกษตรกรรมต้องรักษาดิน รักษาห้วยหนองคลองบึงของเขา เพราะกระทบกับชีวิตของเขาโดยตรง

NGO ไม่สามารถผลักดันรณรงค์คนในเมืองหลวงให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้

NGO ซึ่งแม้จะเห็นใจคนท้องถิ่น และมีการจัดกิจกรรมเพื่อสภาพแวดล้อมบ่อยๆ แต่ NGO นั้นต้องจับกระแสคนเมืองซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรหลักของตนเอง ไม่สามารถที่จะคัดค้านการเปิดห้างใหม่ๆหรือคัดค้านกิจกรรมการประหยัดทรัพยากรที่ทำให้คนเมืองหลวงเดือดร้อนได้ ในขณะที่ สส. มีแนวโน้มเห็นใจคนในท้องถิ่นที่เป็นฐานเสียงของตน มากกว่า แต่รัฐบาลไม่สามารถที่จะทำโครงการเล็กเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะคนในท้องถิ่นได้ คนท้องถิ่นจึงต้องรวมพลังในองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นกันเอง

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้เขียนที่เป็นคนในเมืองหลวงเห็นว่า การโทษคนเมืองหลวงอย่างเดียวนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะคนท้องถิ่นในระบบเศรษฐกิจก็สนับสนุนคนเมืองหลวงด้วยเช่นกัน บทความนี้เขียนเพื่อหวังให้คนเมืองหลวงได้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตที่ทำลายทรัพยากรแวดล้อมในที่ห่างไกล เพื่อย้อนกลับมาดูและพิจารณาถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มาจากตนเองบ้าง หลังจากเพ่งเล็งการอนุรักษ์ในที่ไกลตัวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว