เริ่มปิดไฟ 2 ทุ่มครึ่งช่วยชาติ

วันนี้มีกิจกรรมสำคัญในการรณรงค์ปิดไฟช่วยชาติ เป็นการบริหารจัดการด้าน Demand Side Management โดยการประหยัดพลังงานที่ไม่จำเป็นเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากการผลิตไฟฟ้า และส่งผลปลายทางไปถึงการลดก๊าซเรือนกระจกต่อสังคมโลกด้วย

ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายประเทศ

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อนตามโครงการ 60 Earth Hour พร้อมร่วมกันสร้างสถิติใหม่ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มีนาคมนี้ กระทรวงพลังงาน ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” หรือ 60 Earth Hour โดยให้เปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 20.30 – 21.30 น. พร้อมกับเมืองใหญ่ 7,000 แห่งทั่วโลก ที่ร่วมกิจกรรมนี้ เพื่อรณรงค์ลดการใช้พลังงาน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยกันแก้ไขและบรรเทาสาเหตุวิกฤตการณ์อันเกิดจากภาวะโลกร้อนในอนาคต

มุมของบริษัทเอกชน เช่น

ชไนเดอร์ฯ ยักษ์ใหญ่ด้านระบบจัดการพลังงานร่วมรณรงค์ “ปิดไฟช่วยชาติ” วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558 เช่นเดียวกัน


image

มร.มาร์ค เพลิทิเยร์ ประธานบริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย กล่าวว่า “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป็นองค์กรที่มีมีพันธสัญญาหลักในการคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงาน และทำให้การใช้พลังงานมีความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรม อาคาร ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของกิจกรรม 60+ Earth Hour อย่างชัดเจน ดังนั้น เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว และรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยและทุกภาคส่วน “ปิดไฟช่วยชาติ” ไปพร้อม ๆ กันกับเรา”

จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง ในปี 2557 ที่มีการรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง พบว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 1,768 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นการลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 6,767,016 บาท

ลดการใช้ไฟฟ้าให้ตรงเวลา

ถ้าช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าให้ถูกจังหวะเวลา ที่เกิดพีคโหลด ย่อมเกิดผลกระทบในระดับประเทศค่ะ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีมาตรการต่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว เรื่องระบบ Demands Response ควบคุมการใช้ไฟฟ้ากลุ่มอุตสาหกรรม

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นำร่องโครงการสาธิตระบบ Demand Response ใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบไฟฟ้าอัตโนมัติในพื้นที่อุตสาหกรรม หวังช่วยลดใช้ไฟฟ้าช่วยพีค

19 มิ.ย. 2557 นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้า 164,341 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 1.6 ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นสาขาหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ หรือประมาณ 72,536 กิกะวัตต์ชั่วโมง

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอาหารใช้ไฟฟ้าสูงถึง 9,697 กิกะวัตต์ชั่วโมง รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะพื้นฐาน กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์

นายเสมอใจกล่าวว่า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ทาง สนพ. จึงได้ดำเนินโครงการ “สาธิตระบบ Demand Response ในพื้นที่อุตสาหกรรม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อศึกษาศักยภาพกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในเรื่องความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี Demand Response ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยควบคุมและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพได้อย่างอัตโนมัติ โดยมีสมาคมพันธมิตรไทยเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ (WEDE THAI) เป็นผู้ดำเนินการ

“ระบบ Demand Response เป็นกลไกที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถจัดการการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ระบบจะแจ้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารู้ว่าเวลาใดที่ผู้คนในประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) หรือ ช่วงเวลาใดที่ใช้ไฟฟ้าแล้วจะมีอัตราค่าไฟแพง โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหาทางลดการใช้ไฟฟ้าของตนเองลง” นายเสมอใจกล่าว

ช่วยวางแผนพลังงานประเทศ

จะเห็นได้ว่า ทั้งผู้เกี่ยวข้องกับนโยบาย วางแผนพลังงานของประเทศ ทั้งบริษัทเอกชน พร้อมใจกันทำรณรงค์ลด Demand การใช้ไฟฟ้า ทีนี้ลองดูกราฟนี้จากแผนพีดีพีที่ออกเมื่อปี ค.ศ. 2012 กันค่ะ
จะพบว่า มีการแสดงพีคการใช้ไฟฟ้าในแต่ละปีที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ในแต่ละปี จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามารองรับพีคดังกล่าว

PDP2010-Rev3-Eng

เริ่มจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ 1 ชั่วโมงวันนี้ เพื่อต่อยอดการบริหารจัดการระดับชาติต่อไป โดยถ้าบูรณาการเครื่องมือในการคาดการณ์พีคให้กับผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้แบบบอกช่วงเวลา คงทำให้ผู้ผลิตสามารถวางแผนการผลิตและลดการใช้ไฟฟ้าช่วงพีคนั้นได้อย่างสมเหตุสมผล และทำให้การใช้ไฟฟ้าสะท้อนการมีกำลังผลิตแบบตรงไปตรงมาค่ะ