วิกฤตน้ำท่วมที่ 3 การไฟฟ้าฯ ต้องเผชิญ

    ช่วงวิกฤตน้ำท่วมทุกวันนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่กว้างได้รับผลกระทบกันเกือบทั้งหมด แต่อะไรไม่เท่ากับสิ่งที่มาซ้ำเติมอีก นั่นคือ ไฟฟ้าเกิดรั่วขึ้นมาอีก จะดับไฟฟ้าทั้งพื้นที่ ข้างบ้านเค้าก็ไม่ยอมนะ เพราะบ้านเค้าไม่ได้รั่วนี่นา!!!

    ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการณ์จนกระทั่งวันนี้ มีประเด็นต่างๆ ทั้งจากสื่อใน Social Media จากทั้งสื่อมวลชนที่เน้นย้ำถึงปัญหา จากปากคนธรรมดาที่ทั้งวิจารณ์/สนับสนุน ศปภ. หรือจะนายกรัฐมนตรีเองก็ตาม:

    ความขัดแย้งของชุมชนกันเองเรื่องพังคันกั้นน้ำคลองประปา, การเมืองหรือเรื่องจริง, กันกระสอบทรายส่วนรวมหรือบ้านตัวเอง, ไอเดียต่างๆ เรื่องน้ำน้ำที่คนไทยช่วยกันคิด ทั้งหมดที่ทำให้เราตามสถานการณ์ทัน เพราะการสื่อสารนั่นเอง

    จากเหตการณืทั้งหมดทำให้เริ่มเห็นอีกมุมหนึ่งของไฟฟ้า ที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ถ้าไม่นับเหตุผลเรื่องการเจริญเติบทางเศรษฐกิจแล้ว โลกนี้ต้องการ “ไฟฟ้า” เพื่อการสื่อสารให้คนสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย

    3 การไฟฟ้าแบ่งเขตกันอย่างไร

    กรณีศึกษาที่เห็นชัดคือ บางคนไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบกระแสไฟฟ้าที่บ้านเราใช้อยู่ พอบ้านเกิดไฟฟ้ารั่วจึงแจ้งไปไม่ตรงหน่วยงาน ประกอบกับช่วงภาวะวิกฤตนั้น คนที่เดือดร้อนมีมากจึงทำให้การอำนวยความสะดวก เช่น ยกหม้อแปลง และปลั๊กไฟฟ้าขึ้นสูงเหนือน้ำ หรือการช่วยเหลือคือตัดไฟฟ้าออกจากพื้นที่ จะเห็นว่าความเข้าใจที่ถูกต้องนี่ เหมือนเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไปในภาวะปกติ แต่กลับเป็นสิ่งสำคัญทีเดียวที่เราควรต้องรู้ เพื่อช่วยให้ การไฟฟ้าฯ ปฏิบัติภารกิจให้เราได้ทันท่วงที

    thaiflood, น้ำท่วม, ประเทศไทย, วิกฤตการณ์, crisis, 2554, 2011
    กระบวนการจากกระแสไฟฟ้าผลิตได้ ส่งต่อไปยังประชาชนไทยทุกพื้นที่ (คลิ๊กที่รูปเพื่อขยาย)

    ภาพข้างบนแสดงให้เห็นว่าพลังงานไฟฟ้า (kWh) ที่ใช้งานกันในประเทศไทยผลิตได้จากทั้งโรงไฟฟ้าในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าจากต่างประเทศ สำหรับโรงไฟฟ้าในไทย ประมาณครึ่งหนึ่งรับผิดชอบโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.- EGAT) ที่เหลือก็เป็นของเอกชน

    กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ถูกส่งต่อไปยัง ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center) ที่รับผิดชอบโดย EGAT และส่งต่อไปยังลูกค้าคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.-MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.-PEA) เพื่อส่งไปยังประชาชนเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลดังในรูป และ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอื่นที่เหลือ ตามลำดับ

    จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า องค์กรที่รับผิดชอบ ไปจนถึงมือผู้ใช้ไฟฟ้านั้น การไฟฟ้าฯ ทั้ง 3 แห่งนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยต่อวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ ที่แบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ 1) วิกฤตปริมาณน้ำจากเขื่อน, 2) วิกฤตต่อลูกค้าใช้ไฟฟ้าโดยตรง และ 3) วิกฤตที่จะไม่มีไฟฟ้าส่งให้ใช้เพียงพอ

    (1) วิกฤตที่น้ำปริมาณมหาศาลปล่อยจากเขื่อน : กรมชลฯ และ กฟผ.(EGAT)

    เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า เจ้าของน้ำ คือ กรมชลประทาน เจ้าของเขื่อน คือ EGAT และจุดประสงค์หลักของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเขื่อนเพื่อการชลประทาน แต่ความเข้าใจอาจไม่เป็นวงกว้างเท่าที่ควร อย่างไรประเด็นนี้ขอให้ติดตามได้ที่ Blog ถัดไป

    “คนที่จะสั่งเปิดน้ำปิดน้ำของเขื่อนภูมิพลกับสิริกิตต์ คือ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” : คุณปลอดประสพ

    แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ได้รับผลกระทบกันอยู่ปัจจุบันมาจากหลายสาเหตุ ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลจำเป็นต้องมีข้อมูลคาดการณ์จากทั้งปริมาณน้ำฝน น้ำสะสมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลมที่จะพัดน้ำให้สูงขึ้นได้ และน้ำทะเลหนุนสูง บวกเข้ากับความเข้าใจธรรมชาติของน้ำ ความสูงต่ำของพื้นที่ จุดกักน้ำทุกๆ จุด คลองทุกสาย ผังเมือง และแผน 1,2,3,…ที่ต้องปรับเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอีกด้วย

    (2) วิกฤตต่อลูกค้าใช้ไฟฟ้าโดยตรง: การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.- MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.- PEA)

    จะเป็นวิกฤตปลายทางของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เจอกับน้ำท่วมบ้าน ในช่วงแรกของการท่วมที่ยังไม่สูงมากนัก ทาง กฟน. (MEA) และ กฟภ. (PEA) ก็มีบริการเลื่อนหม้อแปลง, ปลั๊กไฟฟ้าให้พ้นน้ำด้วย (วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อน้ำท่วมบ้าน คุณ @panraphee แนะนำไว้ใน Blog ค่ะ )

    แต่ถ้าท่วมสูงจนเกือบถึงปลั๊กไฟฟ้ากันแล้ว เจ้าของบ้านเอง ก็ต้องตัดไฟฟ้าออกด้วยตัวเองแบบ manual หรือ safety-cut กันอยู่แล้ว อีกส่วน ถ้าคนไม่อยู่ในบ้าน แต่บ้านโดยน้ำท่วมไปหมดแล้ว คราวนี้บ้านข้างเคียงอาจแจ้งให้ MEA / PEA ช่วยมาตัดไฟฟ้าบริเวณนั้นให้หน่อย แต่การแจ้งแบบเป็นพื้นที่บริเวณกว้างนั้น จนท. ก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกต่อว่าจากบ้านที่เค้าจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าได้ ดูตัวอย่าง จากศูนย์อพยพที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต พอไฟฟ้าดับต้องปิดแอร์หมด คนแก่ เด็ก อาการแย่ทันที ทางเจ้าหน้าที่ของ MEA บอกผ่านโทรศัพท์ว่าจะใช้เวลานานมาก เพราะ จนท.ต้องตรวจสอบว่ารั่วบริเวณใดบ้าง หลายจุดหรือจุดเดียว แต่ตัดไฟฟ้าเป็นพื้นที่กว้างสักแค่ไหน จึงขอให้โทรแจ้งเป็นบ้านๆ เพื่อ MEA นำมาประเมินเอง

    กรณีที่ลูกค้าเป็นประชาชนโดยตรง จะเห็นว่า การสื่อสาร 2 ทางระดับรายบ้าน มีความสำคัญมากต่อทั้ง MEA และ PEA เพื่อการรับส่ง feedback การแก้ไขปัญหา หรืออย่างน้อยแจ้งความคืบหน้าการทำงานของ จนท. เพื่อช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของประชาชนได้บ้าง

    และนี่คือตัวอย่างของ PEA ที่ได้ใช้เครื่องมือ Social Media: Facebook ที่คอยอัพเดทการทำงานของ จนท. ที่เข้าพื้นที่ต่างๆ เป็นอีกช่องทางที่ประชาชนที่ยังไม่โดนตัดไฟฟ้า พอจะรู้ความเป็นไปของตัวเองได้บ้าง นอกเหนือจากพื้นที่ข่าวในทีวีปกติที่การรายงานจะเกาะติดสถานการณ์การระบายน้ำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้ อีกทั้งยังมี Twitter: @pea_thailand และคุณ @hema007 ที่เป็นอีกช่องทางที่ทีมงาน PEA ได้ใช้สื่อสารกับประชาชนอย่างแอคทีพในช่วงเวลาคับขันอย่างนี้ด้วย

    thaiflood, น้ำท่วม, ประเทศไทย, วิกฤตการณ์, crisis, 2554, 2011
    การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับการช่วยเหลือวิกฤตการน้ำท่วมไทย 2554

    thaiflood, น้ำท่วม, ประเทศไทย, วิกฤตการณ์, crisis, 2554, 2011
    ขอบคุณทวีตจากคุณ @hema007 via @pea_thailand

    รูปข้างบนนี้ได้จากหน้าเฟซบุคของ PEA ต้องขอขอบคุณ คุณ @hema007 ที่ได้ทวีตมาให้เช้านี้ค่ะ

    อีกส่วนที่เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูง (สฟ.) – ต้นทางการส่งไฟฟ้า จนกระทั่งถึงบ้านเรือน- ได้มีการเสริมแนวป้องกัน, ยกอุปกรณ์สำคัญสูงขึ้นระดับหนึ่ง, ถ้าน้ำท่วมระดับสูงจนเสี่ยงมากก็ต้องย้ายการจ่ายไฟฟ้าไป สฟ. อื่นๆ ซึ่ง EGAT/MEA/PEA ต้องร่วมมือกัน

    (3) วิกฤตที่ปริมาณไฟฟ้าไม่พอต่อความต้องการ: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ข่าวโรงไฟฟ้าวังน้อยถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินเครื่องได้ EGAT ต้องตัดสินใจหยุดเดินเครื่องก่อนจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออุปกรณ์สำคัญในโรงไฟฟ้า ทำให้ศูนย์ควบคุมฯ ต้องปรับแผนอย่างรวดเร็ว เรียกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอื่นที่มีความพร้อมทดแทนในระบบ National Grid เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการการใช้ไฟฟ้าทันทีทันใด
    ขณะเดียวกันต้องกันปริมาณสำรองไฟฟ้าให้พอต่อการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคโหลดจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ ปริมาณสำรองฯ เหลืออยู่หมิ่นเหม่ทีเดียวแค่ 18% แต่เป็นความโชคดีมากที่บริเวณโรงไฟฟ้าอื่นที่เป็นโรงไฟฟ้าแบบผลิตกันตลอด 24 ชม. (Base Load Power Plants) ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพร้อมกัน

    ถัดมาอีก 2 วันจากการที่ MEA/PEA จำเป็นต้องตัดไฟฟ้าบางพื้นที่ เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ก็ทำให้ระบบฯ ลดปริมาณที่ใช้ไปบ้าง ส่งผลให้ระบบมีความมั่นคงขึ้น ค่อยใจชื้นกันขึ้นมาบ้าง

    *** เห็นได้ว่า การรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าแห่งชาติ มีความจำเป็นอย่างสูงสุดทีเดียวในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งเรื่องการอยู่รอดของชีวิตคนที่ต้องกินทั้งอาหารที่อาศัยการปรุงสุกจากเครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำดื่มที่ผลิตจากการที่ต้องอาศัยไฟฟ้า และที่สำคัญในเรื่องการพยายามต่อสู้กับกองทัพน้ำอย่างในตอนนี้ ขาดเรื่องการสื่อสารที่ต้องชาร์จไฟฟ้ากันอยู่ตลอดไม่ได้เลย ***