ไทยทำได้! นักธุรกิจหญิงอันดับ 15 ของ Asia กับ Solar Farm

solar_farm โซล่าฟาร์ม พลังงานทางเลือกสีเขียว วันดี กุญชรยาคง บริษัท เอสพีซีจี SPCG
Solar Farm (ขอบคุณภาพเครดิตจาก sunflowercosmos.org )

คุณวันดี กุญชรยาคง กับภารกิจที่ทิ้งความเป็นมืออาชีพไม่ได้ คุณวันดีได้รับการจัดลำดับให้เป็น Top 15th ของนักธุรกิจหญิงในภูมิภาคเอเชียจากนิตยสาร Forbes Asia 2012

โครงการโซล่าร์ฟาร์มแห่งแรกนี้เริ่มตั้งแต่สมัยคุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ดำรงตำแน่ง รมต.กระทรวงพลังงาน และ กฟภ. เปิดรับผู้ขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนช่วงแรก ซึ่งยังไม่มีใครในประเทศไทยทำพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เลย

ความยากของการเกิดโครงการประเภท Precedent Case

กว่าจะได้เริ่มต้นโครงการแรกคุณวันดี ได้ตัดสินใจใช้เงินลงทุนส่วนตัวหลายล้านบาท แต่กว่าจะมาลงตัวที่ตัวเลขเงินนี้ ยังต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ เครือข่ายในวงการสิ่งแวดล้อม ความสามารถการเจรจาต่อรอง ดังในบทสัมภาษณ์

Precedent Case : ทางธนาคารผู้ลงทุนเรียก โครงการที่ต้องใช้เงินทุนกว่า 700 ล้านบาท และเป็นโครงการแรกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนว่า Precedent Case คือ ต้องจ้างนักกฎหมายภายนอก จ้างที่ปรึกษาอิสระทางด้านเทคนิคว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ มีความสามารถในการคืนทุนไหม ตอนแรกเขาให้เราไปหามาครึ่งหนึ่งคือ 350 ล้านบาท แต่คิดว่าไม่ไหว เลยเจรจาต่อรองจนมาสรุปที่ 60:40 คือเราหา 280 ล้านบาท ธนาคารให้ 420 ล้านบาท
แล้วเขาบอกว่า ถึงเราจะมีเงิน แต่เขาก็ไม่ต้องการให้เราเอาเงินมาลงทั้งหมดคนเดียว ให้ไปหา Partner ที่เป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับธนาคาร ตอนแรกก็บินไปที่ธนาคารโลกที่สิงคโปร์ จนเขาให้มาติดต่อที่ International Finance Corporation (IFC) ที่ฟิลิปปินส์ ไปพูดคุยว่าเราจะทำโครงการนี้ ชวนให้เขามาลงทุนกับเรา ใช้เวลา 9 เดือน นับจากปลายปี 2551 แล้วเราก็ยังได้มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นคู่ร่วมลงทุนด้วยค่ะ…

ออกแบบก่อสร้างโซล่าร์ฟาร์มแบบครบวงจรด้วยฝีมือคนไทย

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่อยากชี้ให้เห็นว่า องค์ความรู้ของคนไทยเอง ประสบการณ์การทำงาน ทำให้เราสามารถออกแบบ ก่อสร้าง ด้วยคนในประเทศเราเอง การตัดสินใจของธุรกิจภาคเอกชนกรณีนี้ มีความเชื่อถือฝีมือการทำงานของคนไทยด้วยกันเอง เชื่อถือในเครือข่ายที่เคยผ่านงานมาด้วยกัน คุณวันดีได้เอ่ยถึง คุณจิราคม ปทุมานนท์ ได้เคยออกแบบโซล่าร์ฟาร์มเล็กขนาด 50 kW และครั้งนี้เป็นความท้าทายใหม่ร่วมกันที่จะสร้างโซล่าร์ฟาร์มขนาด 6 MW โดยคุณวันดีให้สัมภาษณ์ชัดเจน ว่าในส่วนการต่อสู้เรื่องเงินลงทุนคุณวันดีรับผิดชอบเอง ส่วนเรื่องเชิงเทคนิควิศวกรรมออกแบบยกให้เป็นของคุณจิราคมทั้งหมด

…ธนาคารให้กู้ปลายปี 2552 เซ็นสัญญาต้นปี 2553 เราเริ่มต้นออกแบบทางวิศวกรรม จัดซื้อและก่อสร้างตามแบบ EPC (Engineering Procurement Construction) ค่ะ ตอนแรกว่าจะจ้างช่างเยอรมัน แต่คิดไปคิดมาจะทำให้เราไม่สามารถคืนทุนได้ เลยกลับมาค้นหาบุคคลในบ้านเราที่มีความสามารถ…

ข้อมูลเชิงเทคนิคของระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์

อุปกรณ์หลักของโซล่าร์ฟาร์ม

    แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Module): ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพลังงานที่ผลิตได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะเป็นกระแสตรง
    โซลาร์เซลล์ 1 กลุ่ม ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 18 แผง ผลิตไฟฟ้าได้ 3,700 วัตต์ การติดตั้งต้องทำมุมเฉียงไปทางใต้ 15 องศา ซึ่งเป็นมุมที่คำนวณจากละติจูดที่ตั้งของประเทศไทยว่าเป็นมุมที่โซลาร์เซลล์จะได้รับแสงอาทิตย์ดีที่สุด
    เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter): ทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับ ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้ในบ้านพักอาศัยและสถานประกอบกิจการ

บำรุงรักษา

    – ทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 3-4 ครั้ง/ปี
    – ส่งตัวอย่างแผงฯ ไปทดสอบสมรรถนะการทำงาน
    – ตรวจเช็คตู้จ่ายกระแสไฟฟ้าหลักและหม้อแปลงไฟฟ้า 1 ครั้ง/ปี
    – ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงเหล็กยึดแผงจุดเชื่อมต่อทางไฟฟ้าเสมอ
    – อายุใช้งานมากกว่า 30 ปี
    – การดูแลตรวจสอบโซล่าร์ฟาร์มที่นี่ใช้แบบศูนย์รวม

ศักยภาพ

    – ความเข้มข้นแสงเฉลี่ยในประเทศไทย 6 ชั่วโมง/วัน เทียบกับยุโรป 2 ชั่วโมง/วัน
    – โครงการแรกที่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เชื่อมสายไฟระบบ Grid เสร็จ เม.ย. 2553
    – ปัจจุบันติดตั้ง 9 โครงการ และขายไฟฟ้าแล้ว 6 โครงการ
    – วางแผนติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 34 โครงการ ภายในปี 2556 บนพื้นที่รับแสงอาทิตย์ได้ดีในภาคอีสาน

ข้อจำกัด
ใช้เงินลงทุนสูงเป็นค่าอุปกรณ์ซึ่งต้องเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด คือ เลือกของที่มีคุณภาพดี มี Standby เพียงพอ และการ Distribution เหมาะสม

…การพัฒนาโดยใช้ทุนสูงในครั้งแรกค่ะ แต่เป็นครั้งเดียวเท่านั้น ยากที่สุดคือการระดมทุนอย่างที่กล่าวมา หากลงทุนเสร็จสร้างเรียบร้อยก็ไม่มีอะไรแล้ว เหลือแต่ค่าเสื่อมราคาซึ่งอุปกรณ์หลักสำคัญก็ต้องเลือกที่มั่นใจว่าจะอยู่กับเราไป 30 ปี จะไม่กล้าใช้ของที่ไม่มีคุณภาพเด็ดขาด
อย่างเครื่องแปลงไฟตัวหนึ่ง 1000 kW (central) บางคนเลือกใช้เพียง 6 ตัวก็พอแล้ว (= 6 MW) แต่ของเราเลือกใช้เครื่อง 11 kW ติดตั้งในฟาร์มไว้ 550 ตัว (=6.05 MW) แน่นอนว่าโอกาสที่เครื่องจะเสียหายย่อมมี แต่เราเสียแค่ 1-2 ตัวและเปลี่ยนได้ภายในครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าตัว Central เสียก็ต้องรอกันเป็นวัน ซึ่งในทางนักลงทุนถือว่าเงินหายไปด้วย

ฟังเสียงคุณวันดี และคุณจิราคม ในคลิปนี้:

ที่มา: สกุลไทย ฉบับวันอังคารที่ 3 เม.ย. 55 (หน้า 76)