จะสร้างรถไฟความเร็วสูง ต้องวางแผนเรื่องแหล่งพลังงานในระยะยาวด้วย

สำนักนายกรัฐมนตรี เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์จากออสเตรีย Mag. Martin Posset มาพูดเรื่องการขนส่งและรถไฟความเร็วสูง มีประเด็นด้านพลังงานที่น่าสนใจจึงนำมาเล่าผ่านบล็อก Energy Thai สักหน่อยครับ

Martin Posset
Mag. Martin Posset

Magister Martin Posset เคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยทรัพยากรธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (University of Natural Resources and Life Sciences) ที่กรุงเวียนนา เขามีผลงานด้านลอจิสติกส์ในยุโรป เชี่ยวชาญด้านการขนส่งสินค้า (frieght) เป็นพิเศษ (ข้อมูลบนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย)

อาจารย์ Posset เล่าให้ฟังว่าเครือข่ายการขนส่ง-คมนาคมของยุโรปนั้นพัฒนาไปมาก มีระบบถนน-โครงข่ายรถไฟ-เส้นทางขนส่งทางน้ำในทวีป สามารถสลับโหมดของการขนส่งได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเทียบกับกรณีของประเทศไทยที่กำลังจะ “สร้าง” ระบบการขนส่งทางรางขึ้นมาใหม่แทบทั้งหมด (ทั้งรถไฟรางคู่-รถไฟความเร็วสูง) สิ่งที่ละเลยไม่ได้เลย คือ “แหล่งพลังงาน” ของการขนส่งระบบราง

อาจารย์ Posset บอกว่าเมืองไทยต้องรีบคิดเรื่อง “แผนการด้านพลังงาน” สำหรับ “เครือข่ายรถไฟ” ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่ว่ามั่วๆ ซั่วๆ สร้างโครงข่ายรางรถไฟไปก่อน 10 ปี แล้วต้องมาพัฒนาเรื่องพลังงานสำหรับรถไฟอีก 5-10 ปีมันจะไม่ทันกิน

แนวทางด้านพลังงานของยุโรปนั้นต่างไปตามแต่ละประเทศ ประเทศพัฒนาน้อยหน่อยแต่มีทรัพยากรเยอะหน่อย ก็อาจใช้ถ่านหินหรือน้ำมัน แต่ในประเทศพัฒนาเยอะๆ อย่างเยอรมนีหรือฝรั่งเศส พลังงานส่วนใหญ่เป็นนิวเคลียร์

โครงข่ายพลังงานในยุโรปก็เป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้ยุโรปรวมเป็นสหภาพเรียบร้อยแล้ว การขนส่งพลังงานข้ามประเทศจึงง่ายมาก ถือเป็นโครงข่ายใหญ่อันเดียว ซื้อขายพลังงานข้ามกันได้ง่าย การจ่ายพลังงานให้กับเครือข่ายรถไฟในยุโรปจึงไม่มีประเด็นด้านพรมแดนมาเกี่ยวข้อง ประเทศไหนก็รับผิดชอบการจ่ายพลังงานของประเทศตัวเอง แล้วมาหักลบกลบหนี้เอาในภายหลัง แต่สุดท้ายมาตรฐานทางเทคนิคแบบเดียวกันทั้งทวีปก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ใช้มาตรฐานไฟฟ้าสำหรับรถไฟแบบเดียวกันได้

ในยุโรปมีหน่วยงานกลางด้านรถไฟชื่อ European Railway Agency (ERA) ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานด้านรถไฟของยุโรปให้เหมือนกันทั้งหมด ทั้งในแง่เทคนิค ด้านความปลอดภัย และความร่วมมืออื่นๆ เช่น ด้านพลังงาน

สำหรับประเทศไทยที่มองถึงการเดินรถไฟความเร็วสูงจากสิงคโปร์ไปคุนหมิง ต้องผ่านอย่างน้อย 5 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ลาว จีน ก็ต้องรีบหากลไกของหน่วยงานกลางที่เชื่อมรถไฟในอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนประเด็นเรื่องแหล่งพลังงานสำหรับรถไฟ ในสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังสามารถดึงแหล่งพลังงานธรรมชาติในพม่าและลาวมาใช้ได้