ประวัติการสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติประเทศไทย

ประวัติการสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติประเทศไทย
ปิโตรเลียม

ยุคเริ่มต้นของก๊าซธรรมชาติ (พ.ศ. 2504 – 2523)

ปี 2510 ไทยได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีป(อ่าวไทย) และในทะเลอันดามัน ปรากฏว่ามีบริษัทฯที่ได้รับอนุญาตจำนวน 6 บริษัทฯ และบริษัท Continental Oil Company of Thailand ได้เจาะสำรวจหลุมแรกในอ่าวไทย คือ หลุมสุราษฎร์-1 ในแปลงสัมปทาน B10 (12 มิถุนายน – 2 สิงหาคม 2514) ได้ความลึก 9,629 ฟุต พบร่องรอยปิโตรเลียม สำหรับหลุมเจาะหลุมแรกในอ่าวไทยที่ประสบความสำเร็จพบปิโตรเลียม คือ หลุมเจาะ 12-1 ดำเนินการโดยบริษัท Union Oil (บริษัท Unocal ปัจจุบัน) ในแปลงสัมปทาน B12 (9 ตุลาคม 2515 – 29 มกราคม 2516) โดยพบทั้งก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวในปริมาณที่น่าพอใจ (เดิมคาดว่าน่าจะพบน้ำมันในอ่าวไทย) ทำให้บริษัทฯ คาดว่าอาจไม่คุ้มทุนในการสำรวจและผลิตก๊าซจากอ่าวไทย เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่มีตลาดของก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศ (เชื้อเพลิงส่วนใหญ่ของประเทศในเวลานั้น คือ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ถ่านหินและฟืน) แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้ตัดสินใจเจาะสำรวจเพิ่มเติม ในขณะที่ทำการเจรจาขายก๊าซให้กับองค์การก๊าซ (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไปพร้อมกัน

ปี 2518 ได้เจาะหลุมประเมินผลหลุมแรกของประเทศ คือ หลุม 12-5 เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของแหล่งก๊าซดังกล่าว ต่อมาแหล่งก๊าซนี้ได้ชื่อว่า แหล่งเอราวัณ นอกจากความสำเร็จของบริษัท Union Oil แล้ว บริษัทผู้รับสัมปทานอื่นก็พบแหล่งก๊าซที่มีค่าในเชิงพาณิชย์อีก เช่น บริษัท Texas Pacific (ปัจุบันได้โอนสิทธิให้กับบริษัท ปตท.สผ.และคณะ) เจาะหลุมสำรวจพบแหล่งก๊าซในแปลงสัมปทาน B17 เมื่อปี 2523 และต่อมาแหล่งก๊าซนี้ได้ชื่อว่า แหล่งบงกช ซึ่งนับเป็นแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในปัจจุบัน

ปี 2514 เริ่มต้นการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอันดามัน รัฐบาลเปิดให้ยื่นขอสัมปทานครั้งแรก บริษัท Amoco Thailand Petroleum และบริษัท Pan Ocean Oil Corporation ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจ W2 และ W4 ตามลำดับ หลังจากได้สำรวจธรณีฟิสิกส์ พบว่ามีตะกอนสะสมหนาน้อยกว่า 1,000 เมตร หรือประมาณ 3,300 ฟุต โอกาสพบปิโตรเลียมมีน้อย บริษัทฯ จึงคืนพื้นที่สัมปทานทั้งหมด

ปี 2516 รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่สัมปทานที่มีน้ำลึกกว่า 200 เมตร เป็นเขตน้ำลึก รวม 3 แปลง คือ แปลงสำรวจ W7 W8 และ W9 พร้อมทั้งส่งเสริมการสำรวจ โดยให้ผลตอบแทนแก่บริษัทสูงขึ้น เช่น ลดหย่อนด้านข้อผูกพันในสัมปทาน ลดอัตราค่าภาคหลวงปิโตรเลียม จากร้อยละ 12.5 เป็น 8.75 และยังให้โอกาสสำรวจนานขึ้น โดยลดอัตราส่วนของพื้นที่ที่ต้องคืนในช่วงการสำรวจระยะแรก เป็นต้น ทำให้มีการสำรวจที่สำคัญ

ช่วงปี พ.ศ. 2517 – 2530 คือการสำรวจธรณีฟิสิกส์ วิธีวัดคลื่นไหวสะเทือน แบบ 2 มิติ ประมาณ 12,000 กิโลเมตร และเจาะสำรวจ 13 หลุม บริเวณแอ่งเมอร์กุย โดยบริษัท Union Oil Company of Thailand แปลง W8 เจาะสำรวจ 6 หลุม พบร่องรอยก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบในหลุมเมอร์กุย -1 และหลุมตรัง-1 บริษัท Esso Exploration Inc. แปลง W9 เจาะสำรวจ 5 หลุม พบร่องรอยก๊าซในหลุม W9-B-1 และบริษัท Placid Oil แปลง W8 เจาะสำรวจ 2 หลุม พบร่องรอยก๊าซในหลุมยะลา-1

เริ่มผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติ (พ.ศ. 2524 – ปัจจุบัน)

หลังจากการค้นพบ แหล่งเอราวัณ และบริษัท Unocal ทำความตกลงขายก๊าซให้กับบริษัท ปตท.เป็นผลสำเร็จ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยก็ถูกส่งมาตามท่อใต้ทะเล ขึ้นฝั่งที่ระยองเพื่อนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม และบางส่วนถูกแยกและป้อนเข้าโรงงานเคมี ในขณะที่ผลสำเร็จจากการสำรวจขุดเจาะดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในสายตาของบริษัทฯน้ำมันต่างชาติ จึงได้มีการออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 6 ในช่วงต้น

ท่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มขึ้นฝั่งที่ระยองเป็นแห่งแรก (credit ภาพจาก gas-pipeline.blogspot.com/)
ท่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มขึ้นฝั่งที่ระยองเป็นแห่งแรก (credit ภาพจาก gas-pipeline.blogspot.com/)

ปี 2522
ในครั้งนี้เองที่บริษัท Thai Shell และบริษัท Esso Exploration Inc. ได้รับสัมปทานในการสำรวจปิโตรเลียมบนบก โดยบริษัท Thai Shell ได้รับสัมปทานแปลง S1 และ S2 คลุมพื้นที่ในเขตจังหวัด พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร หลังจากการสำรวจเบื้องต้น บริษัทฯได้ทำการเจาะสำรวจหลุมปิโตรเลียม 2 หลุมแรก คือ หลุมประดู่เฒ่า-1 ที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย (4 มิถุนายน – 4 กันยายน 2524) พบน้ำมันดิบไหลวันละ 400 บาร์เรล และหลุมลานกระบือ-A1 กิ่งอำเภอลานกระบือ จ.กำแพงเพชร (11 กันยายน -1 ธันวาคม 2524) พบน้ำมันดิบไหลวันละ 2,050 – 5,450 บาร์เรล ต่อมาแหล่งน้ำมันของบริษัท Thai Shell E & P นี้รู้จักกันในนามของ แหล่งสิริกิติ์ และนับเป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ สำหรับบริษัท Esso Exploration Inc. ได้รับสัมปทานในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือแปลง E1 – E5 รวม 5 แปลง และได้เจาะสำรวจเป็นหลุมแรกที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น หลุมน้ำพอง-1 เริ่มเจาะ วันที่ 12 เมษายน 2524 และเจาะถึงความลึกสุดท้ายที่ 13,471 ฟุต พบก๊าซธรรมชาติไหลประมาณวันละ 54 ล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งที่ใช้ผลิตก๊าซเพื่อขายให้แก่ กฟผ. ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรู้จักกันในนามของ แหล่งก๊าซน้ำพอง

ปี 2528 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(ปตท.สผ.) ซึ่งต่อมาได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ปัจจุบัน บริษัท ปตท.สผ. สามารถดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศด้วยบุคลากรไทยเป็นส่วนใหญ่ Unocal Petroleum Limited ได้รับสัมปทานแปลง W8/38 และ W9/38 ในทะเลอันดามัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2539 ได้สำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน แบบ 2 มิติ และเจาะสำรวจ 5 หลุม พบร่องรอยปิโตรเลียมเพียง 1 หลุม (หลุมสุราษฎร์-1) ถึงปัจจุบัน ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมได้เจาะหลุมปิโตรเลียมแล้ว ไม่น้อยกว่า 1,800 หลุม ปัจจุบันมีผู้รับสัมปทานจำนวน 28 สัมปทาน แปลงสำรวจ 37 แปลง และพบแหล่งปิโตรเลียมที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ทั้งบนบกและในทะเล ไม่น้อยกว่า 30 แหล่ง มีการผลิตปิโตรเลียมจาก 28 แหล่ง ปิโตรเลียมที่ผลิตได้ทั้งในรูปของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ปิโตรเลียมในรูปแบบต่างๆ เทียบเป็นปริมาณน้ำมันดิบ ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 30-35 เป็นปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดเงินนำเข้าปิโตรเลียม ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาทต่อเดือน

แหล่งข้อมูล: http://www.cssckmutt.in.th/